มก. เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม ตามกรอบทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ประเภท โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Incubation Unit)
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแนวคิดในการดำเนินงานเพื่อนำระบบและกลไกการบริหารจัดการงานวิจัย
มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้เป็นนักวิจัยศักยภาพสูง โดยการสร้างขีดความสามารถของ
นักวิจัยรุ่นกลาง และการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Special Research Units; SRU) โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยด้านเกษตร อาหาร และสุขภาพ ในขณะเดียวกันการสร้างกลุ่มวิจัยใหม่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างขีดความสามารถให้กับนักวิจัยรุ่นกลางและนักวิจัยรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสพัฒนางานวิจัยพื้นฐานเชิงลึกควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนของหน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Incubation Unit) โดยมีนักวิจัยเชี่ยวชาญอาวุโสเป็นพี่เลี้ยง ให้สามารถผลิตผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การเป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง นักวิจัยรุ่นกลางและนักวิจัยรุ่นใหม่จะสามารถสร้างโจทย์วิจัยเชิงลึกและโจทย์วิจัยท้าทายที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยต่อยอดในอนาคต ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย สามารถผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพมีมาตรฐานสูง ได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และมีส่วนในการกระตุ้นให้นักวิจัยมีแนวทางการนำผลงานวิจัย หรือองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศได้เพื่อเป็นการจัดตั้ง “หน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Incubation Unit)” ให้เกิดประสิทธิผล และความสำเร็จของโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน “หลักเกณฑ์” ในการสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ข้อเสนอโครงการวิจัยควรมีรายละเอียด ดังนี้

    1. ความสอดคล้องกับพันธกิจ วิสัยทัศน์ และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และโจทย์วิจัยต่างๆ ต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาความรู้ ส่งเสริมนวัตกรรม และจัดการกับความท้าทายที่สำคัญในสาขาการวิจัยเป้าหมาย
    2. แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และศักยภาพในการสร้างความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ ควรนำเสนอคำถาม วิธีการ หรือแนวทางการวิจัยใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมีส่วนสำคัญในสาขานั้นๆ
    3. ควรระบุถึงผลลัพธ์ ผลกระทบ และความเกี่ยวข้องที่ชัดเจน สามารถวัดผลได้ เพื่อจัดการกับความท้าทายทางสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เช่น การปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม หรือการก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
    4. ควรมีลักษณะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือแบบสหวิทยาการ และความร่วมมือข้ามขอบเขตการวิจัย สถาบัน หรือภาคส่วนต่างๆ และแสดงให้เห็นว่าการทำงานวิจัยร่วมกันจะสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพ ความเกี่ยวข้องของการร่วมมือ และเกิดผลกระทบจากการวิจัยได้ในอนาคต
    5. การเสริมสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาความสามารถของบุคลากรวิจัย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ สำหรับนักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบวิชาชีพช่วงเริ่มต้น ซึ่งต้องระบุการวางแผนกิจกรรมการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และพัฒนาทักษะ เพื่อดูแลนักวิจัย และนักสร้างสรรค์รุ่นต่อไป
    6. ความเป็นไปได้และความยั่งยืน ต้องแสดงให้เห็นถึงแผนการดำเนินงานวิจัยที่ชัดเจน และ สมจริง รวมถึงกำหนดเวลา เหตุการณ์สำคัญ และความต้องการทรัพยากร โดยระบุให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ของความสามารถในการขยายขนาด และความยั่งยืน นอกเหนือจากระยะเวลาการให้ทุนวิจัยฯ รวมถึงการวางแผนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพิ่มเติม และการรักษาเงินทุนเพื่อติดตามผล
    7. แนวปฏิบัติวิจัยที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบ ควรเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมระดับสูง และแนวปฏิบัติด้านการวิจัยที่มีความรับผิดชอบ รวมถึงการพิจารณาความสมบูรณ์ของการวิจัย
      การจัดการข้อมูล และการดำเนินการทางจริยธรรม รวมถึงการจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ข้อกังวลด้านจริยธรรม และผลกระทบทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการวิจัย
    8. การมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ใช้ปลายทาง และชุมชน ตลอดกระบวนการวิจัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงความเกี่ยวข้องของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ควรมีแผนกลยุทธ์สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ การเผยแพร่ และการสื่อสาร เพื่อแบ่งปันผลการวิจัยกับผู้ชมที่หลากหลาย
    9. การประเมินและติดตาม ต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินงานสำหรับการประเมินที่เข้มงวด และการติดตามความคืบหน้าของโครงการวิจัย ผลลัพธ์ และตัวชี้วัดผลกระทบ ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การปรับตัว และการปรับปรุง โดยยึดตามผลการประเมินและข้อเสนอแนะ
    10. ความครอบคลุมและความหลากหลาย ควรส่งเสริมการไม่แบ่งแยก ความหลากหลาย และความเสมอภาคในการเข้าร่วมการวิจัย ความเป็นผู้นำ และการเป็นตัวแทน และมุ่งมั่นที่จะจัดการกับอุปสรรคที่เป็นระบบและส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังหรืออัตลักษณ์

1. เป้าหมายการวิจัย

ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มทรัพยากรการวิจัย ทั้งบุคลากรและเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อดำเนินการวิจัยเฉพาะเรื่อง/เฉพาะด้าน ในระดับเชิงลึกให้มีความแข็งแกร่งและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการด้านเกษตร อาหาร และสุขภาพ และมีนักวิจัยที่ศักยภาพสูง มีการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ควบคู่กับงานวิจัยไปอย่างต่อเนื่อง มีแบบแผน สร้างความเชื่อมั่นทางวิชาการ สร้างชื่อเสียงและยกระดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น เป็นแนวทางในการสร้างเครือข่ายการวิจัยกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นักวิจัยได้รับการพัฒนาให้เป็นนักวิจัยศักยภาพสูง สร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง มีการสร้างทีมวิจัยทำงานร่วมกัน สานต่องานวิจัยกันอย่างเป็นระบบ และมีกลุ่มงานวิจัยที่สำคัญต่อการพัฒนางานด้านเกษตร อาหาร และสุขภาพเพิ่มขึ้นเพื่อความยั่งยืนของประเทศอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการจัดตั้ง “หน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Incubation Unit)” ให้เกิดประสิทธิผลและความสำเร็จที่ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ควรมีรายละเอียดของเป้าหมายการวิจัย ดังนี้

1.1 เพื่อเป็นหน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Incubation Unit) ในการพัฒนาเป็นหน่วยวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Special Research Unit, SRU) มีความเข้มแข็งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ และความต้องการของประเทศในอนาคต

1.2 เพื่อพัฒนางานวิจัยของนักวิจัยรุ่นกลาง และนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้มีศักยภาพสูงพร้อมที่จะผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ โดยพัฒนาระบบ Mentoring system ในการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย

1.3 ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และ/หรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา

1.4 เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ การสร้างการรวมกลุ่มการวิจัยของนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ เพื่อดำเนินงานวิจัยเฉพาะเรื่อง/เฉพาะด้านให้แข็งแกร่งและต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของการวิจัยในเรื่องและด้านนั้น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

1.5 พัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการเพื่อการนำนวัตกรรมการวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคคลและการพัฒนากระบวนการผลิต

1.6 เพื่อเป็นการรวมเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการวิจัย และสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการดำเนินงานวิจัยเฉพาะเรื่อง/เฉพาะด้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

1.7 เพื่อเป็นแหล่งสร้างความเข้มแข็งของนักวิจัยอาชีพ

1.8 เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมด้านการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา

1.9 เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมด้านกิจกรรมวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นฐานรองรับให้เกิดความร่วมมือทางการวิจัยกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและต่างประเทศ

1.10 มีการหาทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่างๆ ภายนอกมหาวิทยาลัยฯ ร่วมให้การสนับสนุน

ทั้งนี้การเสนอหน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทางด้านต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามกรอบทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ที่เน้นการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานเชิงลึกที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ทั้งที่เป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีขอบเขตและประเด็นวิจัยที่จะจัดตั้งเป็น หน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทางด้าน ในหัวข้อต่าง ๆ ที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์วิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาทิเช่น

  • การปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ
  • การปรับปรุงพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ
  • การผลิตพืช
  • วิทยาศาสตร์และการจัดการสุขภาพสัตว์
  • วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและป่าไม้
  • การจัดการภัยพิบัติ
  • โภชนศาสตร์สุขภาพ
  • การแพทย์เกษตรและสาธารณสุขศาสตร์
  • วิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ
  • การจำลองทางคณิตศาสตร์และสถิติ
  • วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์
  • เทคโนโลยีควอนตัม
  • ฟิสิกส์พลังงานสูง และเทคโนโลยีพลาสมา
  • ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • เทคโนโลยีสีเขียว
  • ปัญญาประดิษฐ์
  • เครื่องจักรกลทางการเกษตร
  • เทคโนโลยีสารสนเทศและความปลอดภัยทางไซเบอร์
  • ซอฟต์พาวเวอร์
  • สังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์
  • พาณิชยนาวี
  • ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
  • ประเด็นวิจัยด้านอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2.  ขั้นตอนการจัดทำและนำส่งข้อเสนอโครงการวิจัย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

การยื่นคำของบประมาณตามกรอบทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประเภท โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Incubation Unit) กำหนดให้ส่งข้อเสนอโครงการวิจัย ในลักษณะการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2 สาขา และมีคณะนักวิจัย/ทีมวิจัยไม่น้อยกว่า 3 คน (ขึ้นอยู่กับระเบียบวิธีวิจัยที่เสนอขอ) ไม่นับรวมนักวิจัยพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษา (Mentor) และต้องมีนักวิจัยรุ่นใหม่เข้าร่วมดำเนินงานวิจัยภายใต้หน่วยบ่มเพาะฯ ด้วย

การเสนอขอโครงการวิจัยต้องมีแนวทางการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าประสงค์และตัวชี้วัดเป้าหมาย (Objectives and Key Results: OKRs) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์วิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย และดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1)  ศึกษารายละเอียด “หลักเกณฑ์การสนับสนุนทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม ตามกรอบทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ประเภท โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Incubation Unit)” ให้ชัดเจน

2)  จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย (Full proposal) ตามแบบฟอร์ม     

3)  นำส่งข้อเสนอโครงการวิจัย (Full proposal)  จำนวน 5 ชุด นำส่งพร้อมแบบบันทึกนำส่งข้อเสนอโครงการวิจัย ผ่านความเห็นชอบจากส่วนงานต้นสังกัด ไปยัง ฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. และนำส่งไฟล์ข้อเสนอโครงการวิจัย (MS word และ PDF) ผ่านทาง E-mail: rdirdk@ku.ac.th ได้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 (เวลา 17.00 น.)

3.  ระยะเวลาดำเนินงานวิจัย / การเสนอของบประมาณ / ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ

1) ระยะเวลาดำเนินงานวิจัย ให้แล้วเสร็จนำส่งผลผลิตภายในระยะเวลา 1 ปี (วันที่เริ่มต้นสัญญาฯ จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาฯ) โดยมีขอบเขต แผนการดำเนินงานวิจัย และผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับที่ชัดเจนในปีงบประมาณ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้าประสงค์

2 การเสนอของบประมาณขอให้พิจารณาตามความจำเป็นและสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานวิจัย วงเงินเสนอขอไม่เกิน 1,000,000 บาท เสนอขอได้ในหมวดค่าวัสดุ/ค่าใช้สอย สำหรับหมวดค่าจ้างบุคลากรให้ปรับเป็นค่าจ้างเหมา และระบุไว้ในหมวดค่าใช้สอย (ซึ่งเป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าอำนวยการโครงการวิจัย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการบริหารโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคู่มือการบริหารจัดการงานวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) **ทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม ตามกรอบ Fundamental Fund ไม่สามารถเสนอขอค่าเดินทางไปทำวิจัยในต่างประเทศ และ/หรือกิจกรรมอื่นใดในต่างประเทศ รวมทั้งไม่สามารถตั้งเสนอขอหมวดค่าตอบแทนนักวิจัย/คณะนักวิจัย/ที่ปรึกษา และหมวดค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง** 

3) ผลผลิต/ผลลัพธ์/ผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ ขอให้ระบุให้สอดคล้องกับงบประมาณที่เสนอขอและ
รับทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้เกณฑ์การผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ หรือการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์  การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ หรือสิ่งประดิษฐ์ สำหรับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยโครงการวิจัยต้องแสดงให้เห็นถึงผลผลิต/ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยนักวิจัยภายใต้โครงการวิจัยจะต้องมีสถานะเป็น First Author หรือ Corresponding Author ในกรณีนักวิจัยจากหน่วยงานภายนอกสามารถมีสถานะเป็น  Co-corresponding Author

4) ข้อเสนอโครงการวิจัยที่เสนอขอจะต้องมีการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันกับสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า ๒ สาขา และมีคณะนักวิจัย/ทีมวิจัยไม่น้อยกว่า ๓ คน (ขึ้นอยู่กับระเบียบวิธีวิจัยที่เสนอขอ) ไม่นับรวมนักวิจัยพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษา (Mentor) และต้องมีนักวิจัยรุ่นใหม่เข้าร่วมดำเนินงานวิจัยภายใต้หน่วยบ่มเพาะฯ ด้วย

5) ข้อเสนอโครงการวิจัยต้องมีนักวิจัยพี่เลี้ยง (Mentor) ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับและอ้างอิง และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในงานวิจัยเพื่อช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำการดำเนินงานวิจัยที่ตรงตามข้อเสนอโครงการวิจัยที่เสนอขอ

. คุณสมบัติของนักวิจัย

คุณสมบัติของนักวิจัยที่ประสงค์จะเสนอขอและรับทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1)   มีสถานะเป็นข้าราชการ / พนักงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มีคำสั่งจ้างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัยฯ และปฏิบัติงานประจำ) ไม่อยู่ระหว่างการลาศึกษาเต็มเวลา และไม่อยู่ระหว่างการลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ (Sabbatical leave)

2)   มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญตรงตามหัวข้อและประเด็นวิจัยดังระบุข้างต้น

3)   มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาเอก หรือมีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์

4)   ไม่ค้างส่งรายงานผลการวิจัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

5)   คุณสมบัติทางวิชาการของนักวิจัย

– นักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีตัวเลข h-index ไม่น้อยกว่า 5

– นักวิจัยสาขาสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ ต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับ

นานาชาติ (Scopus) ไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง

6)   นักวิจัยที่มีคุณสมบัติตามที่ระบุข้างต้นสามารถเสนอขอและรับทุนได้เพียง 1 โครงการวิจัย

5. เกณฑ์ในการพิจารณา SRU-Incubation Unit

ดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหน่วยบ่มเพาะการวิจัยเฉพาะทาง ซึ่งแต่งตั้งโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

  1. ศักยภาพ ความพร้อมของนักวิจัยและการรวมกลุ่ม มีความสอดคล้องกับประเด็นวิจัย
  2. ความเป็นไปได้ของการดำเนินงานวิจัย
    • ความสอดคล้องและความเชื่อมโยงของสมมติฐาน
    • รายละเอียดของกระบวนการวิจัย วิธีการดำเนินงานวิจัย และแผนการดำเนินงานวิจัย
      นำไปสู่ผลสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์
    • ความใหม่/ผลกระทบของงานวิจัย
    • ศักยภาพของนักวิจัย
  3. ผลผลิต/ผลลัพธ์/ผลกระทบ
    • ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ
    • นวัตกรรม/เทคโนโลยี/ผลิตภัณฑ์/กระบวนการ
    • ทรัพย์สินทางปัญญา/การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์/การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์/สิ่งประดิษฐ์
    • พัฒนากำลังคนระดับบัณฑิตศึกษา/นักวิจัยผู้ช่วย ฯลฯ
  4. การหาแหล่งทุนอื่นร่วมสนับสนุน
  5. การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งในและต่างประเทศ

Download หลักเกณฑ์ฯ และ แบบฟอร์ม ดังนี้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
ที่เบอร์ 02-5795547 / 611457, 611796, 611943
หรือ Email: rdirdk@ku.ac.th

ที่มา: สวพ.มก.